เมล็ดแฟลกซ์หรือเมล็ดลินิน (Flax seed) อุดมไปด้วยกรดอัลฟา-ไลโนเลนิค ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมกา-3 ลิกแนนและใยอาหาร จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพระบบหลอดเลือดหัวใจ ช่วยแก้ท้องผูก เมล็ดลินินและผลิตภัณฑ์จากเมล็ดลินินถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี

แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้ สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเมล็ดแฟลกซ์หรือผลิตภัณฑ์ จากเมล็ดแฟลกซ์ทุกครั้ง

เมล็ดแฟลกซ์เป็นเมล็ดของต้นลินินที่เราเอามารับประทานกันนั้น จริง ๆ แล้วเป็นพืชที่ให้น้ำมันและเส้นใยสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก

ในปัจจุบันเมล็ดลินินมีจำหน่ายในรูปแบบเมล็ดหรือรูปแบบที่ถูกบดเป็นผง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ด ตลอดจนสารสกัดลิกแนนจากเมล็ดลินิน เรายังสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของขนมปัง เครื่องดื่ม มัฟฟิน เป็นต้น

ส่วนน้ำมันเมล็ดลินินที่ได้จากการบีบเย็น (Cold-Pressed) นั้นไม่ควรนำไปปรุงอาหาร แต่จะนำมาบริโภคในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทน

องค์ประกอบทางโภชนาการของเมล็ดลินิน     

เมล็ดลินิน ¼ ถ้วย (ประมาณ 57 กรัม) ให้พลังงาน 276 กิโลแคลอรี มีสารอาหารมากมาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร โดยใยอาหารในเมล็ดลินินประกอบด้วย ใบอาหารที่ไม่ละลายน้ำ(เซลลูโลสและลิกนิน) กับใยอาหารที่ละลายน้ำ(สารเมือก) โปรตีนและไขมัน 19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน

โดยมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 73 ส่วนกรดไขมันอิ่มตัวที่พบมาก ได้แก่ กรดอัลฟ่า-ไลโนเลนิค ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมกา-3 วิตามินและแร่ธาตุที่พบในเมล็ดลินิน ได้แก่ วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 โฟเลต แมกนีเซียม โปแตสเซียม แคลเซียม เหล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ เมล็ดลินินยังเป็นแหล่งของลิกแนน ซึ่งเป็นสารประกอบโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนจากพืช โดยเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ แล้ว เมล็ดลินินให้ลิกแนนในปริมาณที่สูงมาก เมื่อเทียบปริมาณ 100 กรัม เมล็ดลินินให้ลิกแนนสูงถึง 335,002 ไมโครกรัมในขณะที่เมล็ดงาให้ลิกแนน 132,275 ไมโครกรัม และข้าวกล้องให้เพียง 14 ไมโครกรัม

ประโยชน์ของเมล็ดลินินที่มีต่อสุขภาพ

เนื่องจากเมล็ดลินินอุดมไปด้วยกรดอัลฟ่า-ไลโนเลนิค ลิกแนนและใยอาหารจึงมีผลดีต่อสุภาพนะระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้

– ระบบหลอดเลือดหัวใจ กรดอัลฟา-ไลโนเลนิคเป็นกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด การเกาะตัวของเกล็ดเลือด และความดันโลหิตในขณะที่เพิ่มไขมันตัวดี (HDL)

นอกจากนี้ลิกแนนก็ยังเป็นสารอีกชนิดหนึ่งที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบหลอดเลือดหัวใจ โดยพบว่ายิ่งระดับเอนเทอโรแลกโทน (สารที่เกิดจากการย่อยสลายลิกแนนในร่างกาย) ในเลือดยิ่งสูงเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหลอดเลือดก็ยิ่งลดลงค่ะ

มีการศึกษาเรื่องผลของการรับประทานเมล็ดลินิน พบว่าเมล็ดลินินและสารสกัดลิกแนนจากเมล็ดลินินสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันตัวเลว (LDL) ในเลือดลงได้ โดยที่ไม่มีผลต่อระดับไขมันตัวดี ส่วนน้ำมันเมล็ดลินินนั้นไม่แสดงให้เห็นผลดีดังกล่าว

นอกจากนี้ ในเพศหญิงสามารถเห็นผลการลดลงของคอเลสเตอรอลโดยรวมและไขมันตัวเลวได้อย่างชัดเจนมากกว่าในเพศชาย

– ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเมล็ดลินินอุดมไปด้วยใยอาหารมากมาย จึงสามารถแก้ภาวะท้องผูกได้

– ระบบภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาพบว่า การรับประทานเมล็ดลินินช่วยทำให้ไตของผู้ป่วยโรคเอสแอลดีหรือที่รู้จักกันดีว่าโรคพุ่มพวง (เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองต่อต้านอวัยวะภายในร่างกาย) ทำงานดีขึ้น

ความปลอดภัยในการรับประทานเมล็ดลินิน

เมล็ดลินินและผลิตภัณฑ์จากเมล็ดลินินถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีเท่านั้นค่ะ การที่จะรับประทานเมล็ดลินินในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

สิ่งที่ควรรู้อีกอย่าง คือ เมล็ดลินินดิบหรือยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ไม่เหมาะสมจะมีไซยาไนต์ (สารพิษชนิดเดียวกับที่เราพบในมันสำปะหลังดิบนั่นเอง) จึงห้ามรับประทานเมล็ดลินินดิบหรือไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปเด็ดขาด

ทั้งนี้ ลิกแนนในเมล็ดลินินมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ส่งผลต่อร่างกายของเด็กทารกในครรภ์ได้ด้วยค่ะ เพราะฉะนั้น สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

โดยมีการทดลองให้หนูที่ท้องกินอาหารผสมเมล็ดลินิน แล้วพบว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่หนูที่ได้รับอาหารผสมลินินนั้นจะมีระยะห่างระหว่างทวารหนักและอวัยวะสืบพันธุ์สั้นกว่า เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้น และมีน้ำหนักตัวตอนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง

เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารที่ไม่ผสมเมล็ดลินิน ส่วนลูกหนูตัวผู้ก็มีเซลล์ต่อมลูกหมากผิดปกติ นอกจากนี้ ลิกแนนยังสามารถเข้าไปอยู่ในน้ำนมของแม่หนูได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยบางงานแสดงให้เห็นว่า เมล็ดลินินสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงยังรับประทานยาอยู่จึงควรต้องระมัดระวังให้มากกว่าคนปกติในการบริโภคอาหารเสริมที่สกัดจากเมล็ดลินิน

อีกทั้งเมล็ดลินินยังมีกรดไขมันโอเมกา-3 มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเลือดไหลง่ายหรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเมล็ดลินินทุกครั้ง